วิธีตรวจสอบสถานะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษี หมายถึง เงินหรือสิ่งของอื่นที่รัฐเรียกเก็บจากปัจเจกบุคคลหรือนิติบุคคล เพื่อนำไปสนับสนุนรัฐและกิจการของรัฐ ซึ่งภาษีมีหลายประเภท อาจแบ่งตามลักษณะการเสียภาษีเป็น 2 ประเภท คือ

ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่ผู้เสียภาษีจะต้องจ่ายให้รัฐโดยตรงไม่สามารถผลักภาระให้ผู้อื่นรับผิดชอบแทนได้ อัตราภาษีจะเป็นแบบก้าวหน้า เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

ภาษีทางอ้อม คือ  ภาษีที่ผู้เสียภาษีสามารถผลักภาระให้ผู้อื่นเป็นผู้จ่ายแทนให้ได้ มักเป็นภาษีจากการรับการบริการ และเป็นภาษีที่เก็บได้มากกว่าเมื่อเทียบกับภาษีทางตรง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ผู้ประกอบการจะรวมอยู่ในราคาสินค้าให้ประชาชนรับผิดชอบไป เป็นต้น

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร?

เมื่อเข้าใจถึงความหมายของภาษีเบื้องต้นแล้ว มาทำความเข้าใจกับภาษีที่ผู้มีรายได้ทุกคนต้องเสีย อย่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้จ่ายภาษีควรมีการวางแผนภาษีเพื่อให้เสียภาษีน้อยที่สุด

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากผู้มีรายได้ เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และต้องจ่ายให้กับรัฐบาลตามเกณฑ์ที่กำหนกเพื่อสนับสนุนกิจการของรัฐ โดยภาษีนั้นจะจะอยู่ในรูปของเงินหรือไม่ก็ได้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเสียภาษีตอนไหน?

การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยทั่วไปจะจัดเก็บปีละ1 ครั้ง โดยปีภาษีจะอยู่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม –  31 ธันวาคมของปีนั้นๆ ซึ่งการจัดเก็บภาษีนั้นผู้มีรายได้จะต้องแสดงตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป กระนั้นก็ยังมีผู้มีรายได้บางประเภทที่ต้องเสียภาษีทุกครึ่งปีเพื่อบรรเทาภาระภาษีที่ต้องในบางกรณี จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนภาษีและมีที่ปรึกษาภาษี

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษี?

ตามโครงสร้างภาษีปี 2561 ได้มีการปรับโครงสร้างภาษีแบบใหม่ กำหนดให้ผู้มีรายได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้นการวางแผนภาษีและมีที่ปรึกษาภาษีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากเพื่อให้การลดหย่อนภาษีถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

สำหรับผู้มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีทุกครึ่งปี มีข้อกำหนด คือ ต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน เกิน 60,000 บาท และหากกรณีมีคู่สมรสต้องมีรายได้รวมกันเกิน 120,000 บาท หรือกรณีที่ฝ่ายหนึ่งมีรายได้เกินจาก 60,000 โดยที่อีกฝ่ายไม่มีรายได้ ก็จะต้องยื่นแบบภาษีเช่นกัน และยังต้องเป็นผู้มีรายได้จากเงินได้ประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8  ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร โดยผู้เสียภาษีจะต้องแสดงตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนปีนั้นๆ

โดยรายได้จากเงินได้ทั้ง 4 ประเภทที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกครึ่งปี มีดังต่อไปนี้

  • ค่าเช่า (เงินได้ประเภทที่ 5)

คือ รายได้ที่มาจากการปล่อยเช่าทรัพย์สินทุกประเภท เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น

  • ค่าวิชาชีพอิสระ (เงินได้ประเภทที่ 6)

สำหรับวิชาชีพอิสระตามประมวลกฎหมายรัษฎากร ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกครึ่งปี มี 6 สาขาวิชาชีพ คือ แพทย์/พยาบาลที่มีใบประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ ทั้งนี้เงินได้ของวิชาชีพดังกล่าวเกิดจากการใช้ความรู้ในวิชาชีพซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอนและไม่ใช่เงินเดือนประจำนั่นเอง

  • ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ (เงินได้ประเภทที่ 7)

บุคคลที่มีรายได้เป็นค่ารับเหมาที่ต้องเป็นคนจัดหาทั้งแรงงาน เครื่องมือ และวัสดุต่าง ๆ เองทั้งหมด โดยไม่มีการผลักภาระใดๆ ให้ผู้จ้าง(ลูกค้า) จะเข้าข่ายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกครึ่งปี

  • เงินได้อื่น ๆ (เงินได้ประเภทที่ 8)

คือ เงินได้ที่ไม่เข้าพวกเงินได้ทั้ง 1 – 7  ประเภทที่กำหนดไว้ก่อนหน้า ได้แก่รายได้จากการเป็นนักแสดง นักร้อง, การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดก, การประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา เช่น ร้านอาหาร ร้านทำผม รวมถึงการขายของออนไลน์ หรือ เงินปันผลที่ได้จากกองทุนรวม  เป็นต้น

ทั้งนี้ยังมีการยกเว้นภาษีสำหรับผู้มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีทุกครึ่งปีตามเกณฑ์ข้างต้น ในกรณีที่เป็นโสดและมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ และคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล หากมีเงินได้ไม่เกินที่กำหนดก็ไม่ต้องเสียภาษีครึ่งปีเช่นกัน

อย่างไรก็ตามหากผู้มีรายได้มีเกณฑ์เข้าข่ายยื่นภาษีครึ่งปีก็จะต้องยื่นภาษีประจำปีในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมตามปกติเช่นกัน

วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

เมื่อได้ “เงินได้สุทธิ” แล้ว ให้นำไปคำนวณตามอัตราภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะได้ภาษีต้องชําระทั้งปีและสามารถนําภาษีที่ถูก หัก ณ ที่จ่ายไว้มาหักออกจากภาษีที่ต้องชาระ

เมื่อได้จำนวนภาษีที่ต้องชำระแล้ว ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) หรือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90)

ทั้งนี้หากต้องการคำนวณภาษีก็มีเว็บไซต์ให้บริการอยู่มากมาย เช่น เว็บไซต์ของกรมสรรพากร โปรแกรม และแอพพลิเคชั่นคำนวณภาษี ต่างๆ

อัตราภาษีจากเงินได้สุทธิบุคคลธรรมดา

เงินได้สุทธิ อัตราภาษี ภาษีสูงสุด (บาท)
0-150,000 (แรก)  5%  ยกเว้น*
 150,001-300,000  5%  7,500
300,001-500,000  10%  20,000
500,001-750,000  15%  37,500
750,001-1,000,000  20%  50,000
1,000,001-2,000,000  25%  250,000
2,000,001- 5,000,000  30%  900,000
5,000,001 ขึ้นไป  35%

ประเภทแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  1. แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91)

คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำนาญ บำเหน็จ เป็นต้น

  1. แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90)

คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1-8

วิธีการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ก่อนที่จะทำการยื่นภาษีนั้นจะต้องวางแผนภาษีและเตรียมเอกสารประกอบการยื่นภาษี ดังนี้

  • หนังสือรับเงินเดือน (50 ทวิ) ซึ่งได้รับจากนายจ้าง โดย 50 ทวิ นี้จะประกอบด้วย รายได้ทั้งหมด โบนัส ค่าประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • เอกสารรายการที่ใช้ลดหน่อยภาษีได้ เช่น ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้, ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา ,ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าการศึกษา, ประกันชีวิต, จากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นต้น                                                                                                                                                                                                                                                                                                                      ช่องทางการยื่นภาษี
  1. ยื่นภาษีออนไลน์ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ rd.go.th ของกรมสรรพากร
  2. ยื่นภาษีด้วยตนเอง
  • กรุงเทพมหานคร

– สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เดิมเรียกว่า สํานักงานสรรพากรเขต/อําเภอ)

– ธนาคารพาณิชย์ไทย และสาขา ในเขตกรุงเทพมหานคร

– ที่ทําการไปรษณีย์สําหรับการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคมเท่านั้น

  • ต่างจังหวัด

– สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เดิมเรียกว่า สํานักงานสรรพากรเขต/อําเภอ)

– ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ในกรณีสำนักงานสรรพากรอำเภอมิได้ตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ หรือ

– สำนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์ไทยในเขตอำเภอหรือกิ่งอำเภอท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่

ขั้นตอนการยื่นภาษีด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

  • เข้าสู่เว็บไซต์ http://epit.rd.go.th ของกรมสรรพากร เลือกหัวข้อ “ยื่นออนไลน์”
  • เลือกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ต้องการ (ภ.ง.ด.90/91)
  • ลงทะเบียน (สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียน)
  • เมื่อลงทะเบียนแล้ว ให้เข้าสู่ระบบ
  • ตรวจสอบชื่อ นามสกุล ที่อยู่และข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้อง
  • เลือกวิธีการยื่นภาษี “ยื่นแบบ Online”
  • กรอกรายละเอียดสถานภาพ หากสมรส ต้องกรอกรายละเอียดคู่สมรสด้วย
  • เลือกประเภทเงินได้ และค่าลดหย่อน
  • กรอกรายละเอียดหนังสือรับเงินเดือน (50 ทวิ)
  • เมื่อกรอกข้อมูลครบแล้วให้ตรวยสอบตัวเลขรายละเอียดต่างๆ
  • ยืนยันการยื่นแบบภาษี
  • เข้าสู่ขั้นตอนจ่ายเงิน หรือ ตรวจสอบการคืนภาษี

ขั้นตอนนี้หากต้องจ่ายภาษีจะมีให้เลือกวิธีการจ่ายเงิน หากใครได้เงินภาษีคืนจะต้องรออย่างน้อย 1 วันหลังยื่นภาษี

วิธีการตรวจสอบสถานะการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

หลังจากยื่นภาษีไปแล้ว ผู้ยื่นภาษีคนใดได้ภาษีคืน สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ http://www.rd.go.th/publish/27942.0.html  หลังยื่นภาษี 1 วัน

เมื่อเข้าใจขั้นตอนการเสียภาษีแล้ว การวางแผนภาษีเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากเพื่อให้ภาษีทุกบาททุกสตางค์เสียไปอย่างคุ้มค่า หากมีที่ปรึกษาภาษีก็จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้เสียภาษีนั่นเอง