“วางแผนน้อย…เหนื่อยมาก วางแผนมาก…เหนื่อยน้อย” ถือเป็นบทสรุปของคำว่า การวางแผนภาษีอากร (Tax Planning) ได้อย่างดี เพราะการวางแผนหมายถึงการประกอบกิจกรรมที่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย นโยบาย และวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นแนวทางสำหรับดำเนินงานให้บรรลุผล โดยกำหนดว่าจะต้องทำอะไร ให้ใคร ทำเมื่อใด ที่ไหน ทำอย่างไร โดยใคร ทบทวนอย่างไร เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ตามความรับผิดชอบที่ได้รับ ซึ่งการวางแผนสามารถนำมาใช้กับทุกเรื่องได้ในชีวิต อย่างเช่นเรื่องการวางแผนภาษีอากร
แล้วทำไมต้องวางแผนด้วย…นั่นเพราะ การวางแผนภาษีอากรคือการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเสียภาษี ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ต่างต้องมีหน้าที่ในการเสียภาษี ซึ่งการวางแผนภาษีอากรมีประโยชน์หลายประการ อันดับแรกเลยคือทำให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง และถ้าหากเกิดความผิดพลาดใดขึ้น การวางแผนนี้ยังช่วยป้องกันโทษและความรับผิดอันเกิดจากการเสียภาษีที่ผิดพลาดนั้นด้วย นอกจากนี้สำหรับนิติบุคคลยังเป็นการลดต้นทุน ซึ่งทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้ประหยัดภาษีได้สูงสุด ทั้งนี้ประโยชน์จากการวางแผนภาษีอากรยังส่งผลในเรื่องของการรักษาสถานะทางการเงินของผู้เสียภาษีอีกด้วย
ดังนั้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจึงแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทบุคคลธรรมดาที่กฎหมายกำหนดให้นำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วมาเป็นฐานในการคำนวนภาษี โดยใช้เกณฑ์เงินสด (cash basis) เป็นตัวตั้ง ขณะที่อัตราภาษีใช้อัตราก้าวหน้า ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประกอบด้วยบุคคลธรรมดา , ห้างหุ้นส่วนสามัญ , คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล , ผู้ถึงแก่ความตายในระหว่าปีภาษี และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
ขณะที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอีกประเภทหนึ่งคือ ประเภทนิติบุคคลที่ทั่วไปกำหนดให้เก็บภาษีจากกำไรสุทธิ โดยเก็บรอบระยะเวลาบัญชีละ 2 ครั้ง เสียภาษีในอัตราคงที่ 30% เว้นแต่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กำไรที่เกิดขึ้นนี้ใช้เกณฑ์สิทธิ์หรือเกณฑ์ในการรับรู้รายได้ทันที เมื่อมีการขายหรือการให้บริการ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการหรือไม่ ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประกอบด้วยบริษัทจำกัด , บริษัทมหาชนจำกัด , ห้างหุ้นส่วนจำกัด , ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล , กิจการร่วมค้า และมูลนิธิหรือสมาคม
ทั้งนี้ผู้เสียภาษีแต่ละประเภทยังแบ่งย่อยลงไปเป็นองค์กรธุรกิจและอาชีพที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งต่างก็มีอัตราภาษี ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่แตกต่างกัน จึงควรศึกษาแต่ละธุรกิจแต่ละอาชีพให้ถ่องแท้และชัดเจนก่อนจะดำเนินการวางแผนธุรกิจ รวมทั้งการวางแผนภาษีที่จะต้องทำความเข้าใจประเภทของภาษีที่ต้องชำระให้ถูกต้องซึ่งมีอยู่ 5 ประเภท เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางภาษีและนำไปสู่การได้เปรียบทางต้นทุนเพื่อประโยชน์ให้ได้สูงสุด
1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล : เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากนิติบุคคลที่ทำธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบของบริษัทฯ หรือในรูปแบบห้างหุ้นส่วน ซึ่งจะมีแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ด้วยกันสองแบบ ได้แก่ แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ภาษีสำหรับรอบบัญชีที่ต้องยื่นภายใน 150 วันหลังจากวันที่ปิดระบบบัญชี และแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ที่ต้องยื่นภายในสองเดือนหลังรอบบัญชีภาษีครึ่งปี
2.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย : เป็นภาษีที่ถูกหักไว้ล่วงหน้า และสามารถที่จะขอคืนภาษีได้ โดยกฎหมายกำหนดให้คนที่จ่ายเงินให้กับกิจการหรือคู่ค้าที่ซื้อของจากเรานั้น มีหน้าที่หักภาษีไว้เมื่อมีการจ่าย ซึ่งเป็นไปตามประเภทของเงินได้ และตามอัตราภาษีที่กำหนดไว้
3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม : เป็นภาษีที่ใกล้ตัวประชาชนทุกคน เพราะทุกครั้งที่มีการจับจ่ายใช้สอยซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคจะต้องจ่ายภาษีประเภทนี้โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ฯลฯ ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ทีมีรายได้ตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อไปขึ้นไป มีหน้าที่ที่จะต้องนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้จากการขายสินค้าและบริการ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือเงินของผู้ซื้อสินค้าและบริการไปเสียให้กับรัฐ
4.ภาษีธุรกิจเฉพาะ : เป็นภาษีเรียกเก็บจากธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงซึ่งได้แก่ กิจการธนาคารพาณิชย์ โรงรับจำนำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
5.อากรแสตมป์ : เป็นภาษีอีกประเภทหนึ่งตามประมวลรัษฎากร ซึ่งจะเรียกเก็บเมื่อมีการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอากรแสตมป์ โดยจะใช้การขีดฆ่าแสดงถึงการใช้แสตมป์ดังกล่าว
ทั้งนี้นั้นข้อควรรู้สำหรับการวางแผนภาษีอากรที่จะให้ได้ผลคือการลงมือทำทันทีที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจ และจะต้องเป็นไปต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ โดยการวางแผนภาษีอากรต้องอาศัยบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องและมีความรู้ความเข้าใจ เพราะการวางแผนภาษีอากร (Tax Planning) ไม่ใช่เป็นการหลบเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) หรือหนีภาษี (Tax Evasion) ก่อนที่จะมีการวางแผนภาษีนั้นไม่ใช่เพียงความรู้เรื่องภาษีประเภทต่างๆ แล้ว ยังต้องมีความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการวางแผนภาษีอากรด้วย ตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
- ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย
ในการวางแผนภาษีอากรผู้วางแผนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจนถูกต้อง ไม่หลงลืมประเด็นหนึ่งประเด็นใดในตัวบทกฎหมายภาษีอากร นอกจากนี้จะต้องศึกษาคำพิพากษาและข้อหารือของกรมสรรพากรประกอบการวางแผนภาษีอากรให้รัดกุมครบถ้วน โดยทำให้กิจการเสียภาษีโดยประหยัดและถูกต้อง ซึ่งสิ่งที่ผู้วางแผนภาษีควรคำนึงถึงก็คือ อย่ามองแง่ใดแง่หนึ่งเพียงแง่เดียว จะต้องมองรายละเอียดของภาษีอากรที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนและถูกต้อง
- ต้องได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด
ควรศึกษาข้อกฎหมายที่จะทำให้กิจการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด โดยการกำหนดทางเลือกในการนำเงื่อนไขทางกฎหมายมาใช้ให้กิจการได้รับประโยชน์สูงสุดและถูกกฎหมายอีกด้วย เช่น รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การส่งเสริมการขายกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับการยกเว้น เป็นต้น
- ปลอดภัยจากภาระที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า
การวางแผนภาษีอากรจะต้องคำนึงถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพราะหากมุมมองของผู้วางแผนขาดความรอบคอบในการศึกษาตัวบทกฎหมายได้อย่างถูกต้องนั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต เช่น การถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบและประเมินภาษี ทำให้กิจการมีราจ่ายเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เป็นต้น
- มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและสมเหตุผล
เมื่อมีการวางแผนภาษีอากรในเรื่องหนึ่งเรื่องใดจะต้องมีการยกกฎหมายมาอ้างอิงให้ชัดเจน ผู้วางแผนภาษีอากรสามารถตอบคำถามในปัญหาต่างๆ ในประมวลรัษฎากร คำพิพากษา ข้อหารือของกรมสรรพากร หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถหาคำตอบได้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายจัดการหรือฝ่ายบริหารอย่างไม่มีข้อสงสัย และเชื่อถือได้ในข้อมูลที่นำมาอ้างอิงเพื่อการวางแผนภาษีอากร
- ช่วยในการลดต้นทุน
กิจการที่มีการวางแผนภาษีอากรจะทำให้กิจการสามารถลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น การขอรับสิทธิส่งเสริมการลงทุนทำให้กิจการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นภาษีอากรสำหรับส่วนแบ่งกำไรหรือเงินปันผล การประกอบกิจการในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 การจัดซื้อทรัพย์สินที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาที่ได้รับสิทธิในการคำนวณค่าเสื่อมราคามากกว่าปกติ เป็นต้น นอกจากจะช่วยในการลดต้นทุนของกิจการแล้วยังช่วยในการเพิ่มกำไรสุทธิของกิจการให้สูงขึ้นโดยการอาศัยการวางแผนภาษีอากรอีกด้วย
ดังนั้น หากผู้วางแผนภาษีอากรไม่ได้ศึกษาเรื่องของหลักการบัญชีทั่วไปหรือมาตรฐานการบัญชีที่ออกโดยสมาคมนักบัญชีที่ออกโดยสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญของระบบเอกสาร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการวางระบบบัญชี อาจจะทำให้การวางแผนภาษีล้มเหลวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้วางแผนภาษีอากรต้องตระหนักถึงเอกสารหลักฐานในการบันทึกบัญชีตามกฎหมายเกี่ยวกับบัญชีของกระทรวงพาณิชย์ กรมทะเบียนการค้า กองบัญชีธุรกิจที่ได้กำหนดประเภทของเอกสารที่ใช้ประกอบการบันทึกบัญชี รวมไปถึงเอกสารที่สรรพากรยอมรับถือเป็นหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินสามารถนำไปคำนวณกำไรสุทธิได้ และจะต้องศึกษารูปแบบของเอกสารสัญญาต่าง ๆ ให้ชัดเจน รวมไปถึงปัญหาจากหลักการบัญชีหรือมาตรฐานการบัญชีมีหลักเกณฑ์แตกต่างไปจากประมวลรัษฎากรในวิธีปฏิบัติในการคำนวณเพื่อเสียภาษีอากร จะทำให้การวางแผนภาษีอากรไม่สมบูรณ์ จนอาจเกิดผลกระทบจากข้อผิดพลาดอันได้แก่ ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม ต้องเสียเบี้ยปรับ และอาจจะต้องรับโทษทางอาญา ทั้งปรับและจำคุก ท้ายที่สุดแล้วอาจถึงขั้นสูญเสียธุรกิจที่สร้างสมมาก็เป็นได้