ได้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ในหัวเรื่อง crisis watch โดยฝ่ายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ขอประทานโทษที่้ต้องเอ่ยถึง) เรื่อง 7 เทคนิคที่เอสเอ็มอีต้องใช้เพื่อการเติบโต ในบทความ มีเรื่องอ่านแล้วชวนหงุดหงิดใจอยู่หลายเรื่องที่จะทำให้คนเข้าใจผิดได้
เรื่องแรก เรื่องการ outsource สิ่งที่เจ้าของกิจการ SME ไม่ถนัด ออกไป
มีการเขียนข้อความว่า ” การจ้างพนักงานบัญชีในช่วงเริ่มแรกเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดเพราะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กค่าใช้จ่ายเพียง 2-3 หมื่นบาทต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับการจ้างพนักงานบัญชีเดือนละ 8,000 บาท”
ในระยะหลังผมได้ยินคำพูดลักษณะนี้จากคนในวงการตลาดทุนมาอย่างน้อยก็ 2 ครั้ง ครั้งก่อนได้ยินจากคุณสุวรรณ วลัยเสถียร (ขอประทานโทษที่เอ่ยนาม) พูดในรายการอะไรสักรายการช่วงบ่าย ว่า ” โอ๊ย ค่าทำบัญชีเดี๋ยวนี้ถูกๆ เดือนละ 2-3 พันบาทเท่านั้นจ้างเอาดีกว่าครับ” ผมฟังแล้วหงุดหงิดกับเรื่องที่เกิดกับวงการวิชาชีพที่แก้กันไม่ได้กันมาตั้งแต่ยังไม่ตั้งสภานักบัญชี จนเดี๋ยวนี้ดีขึ้นแต่ก็ยังมีปัญหามากอยู่ คือเรื่องการทำงานของสำนักงานบัญชี เพราะถือว่าเป็นอาจารย์มาก่อนสมัยเรียน จึงไม่อยากเขียนไม่อยากเล่าถึงเรื่องที่แกพูด แม้ว่าการให้ข้อมูลลักษณะนั้นจะเป็นการทำลายวงการวิชาชีพที่ตัวผมเองทำมาหากินอยู่ก็ตาม
วันนี้ทำไมต้องเล่า เพราะผมคิดว่าปัญหาวิชาชีพก็ต้องคนในวิชาชีพจัดการ และให้ข้อมูลไม่ใช่คนภายนอกที่ รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ผมจำได้ว่า มีผู้เขียนแสดงความเห็นเกี่ยวกับสภาวิชาชีพในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งก่อนการประชุมสภานักบัญชีไม่กี่วัน ในการประชุมสมาชิกสภานักบัญชี อ.เกษรี ซึ่งท่านเป็นนายกสมาคมในขณะนั้น ได้กล่าวในที่ประชุมอย่างไม่ค่อยสบายใจว่า ” ตอนนี้มีคนนอกวงการเขียนวิจารณ์แสดงความเห็นต่อสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งบางประเด็นความเห็นไม่ค่อยมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ”
ประเด็นนี้ก็เหมือนกัน
ผมจะค่อยๆอธิบายว่าทำไมมันเสี่ยงต่อความเข้าใจผิดแล้วมีผลต่อวิชาชีพบัญชี
เรื่องแรก
จากบทความที่เขียนว่า “เมื่อเทียบกับการจ้างพนักงานบัญชีเดือนละ 8,000 บาท” เรื่องนี้ต้องถามว่าในตลาดหลักทรัพย์หรือ บริเวณที่ตลาดหลักทรัพย์ที่คนเขียนบทความตั้งอยู่ เงินเดือนนักบัญชี เฉลี่ยเดือนละ 8,000 บาท หรือเปล่าครับ เวลานี้มันปี 56 แล้วครับเงินเดือนขนาดนี้น่าจะ 10 ปีที่แล้ว หรือ ถ้าสมมุติว่าใช่ เงินเดือนแถวสีลม เงินเดือนปริญญาตรีบัญชี แค่ 8,000 จริง ก็ไม่ใช่นักบัญชีที่สามารถลงนามผู้ทำบัญชีได้ถึงได้เงินเดือนขนาดนั้น ถ้าสงสัยว่าเท่าไหร่ ลองไปดูในเวปไซต์ประกาศหาพนักงานก็จะรู้ว่าจริงๆ แล้วมันควรเป็นเท่าไหร่ ก็ต้องดูว่าบริษัทคุณเป็นอย่างไร ระดับไหน อยู่ย่านไหน ประเมินตัวเองเอาเอง
เรื่องที่ 2 ธุรกิจขนาดเล็กค่าใช้จ่ายเพียง 2-3 หมื่นบาทต่อปี
“เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดเพราะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กค่าใช้จ่ายเพียง 2-3 หมื่นบาทต่อปีเท่านั้น ” เรืองนี้ต้องใช้ทักษะการจัดการและการคำนวณอยู่บ้าง
ต้องถามว่าค่าทำบัญชี 2-3 หมื่นบาทต่อปี ต่อเดือนก็แค่ 2 พันกว่าบาท ต้องทำงานเท่าไหร่
เงินเดือน เฉลี่ยเด็กปริญญาตรี ทำได้ทุกอย่าง เหมือนที่ ผู้เขียนบทความบอก ตลาดกลางๆ ค่อนข้างต่ำ เงินเดือนปริญญาตรีจบใหม่อยู่ที่ ประมาณ 14,000 บาท เงินเดือนบริษัทปกติ มีค่าเงินเดือนค่าแรงก็ประมาณ 10-12 % ถ้าเทียบตามอุตสาหกรรมทั่วไป ต้องมีรายได้ค่าบริการ ประมาณ 140,000 บาทต่อเดือนต่อคน ค่าทำบัญชี คิดที่ตรงกลาง 2,500 บาทต่อเดือน พนักงานบัญชีต้องทำบัญชีของลูกค้า 56 แห่งต่อเดือน เฉลี่ยวันละ กี่แห่งคำนวณเอาเอง
เอาใหม่ ……… ไม่แฟร์
เอาของสำนักงานบัญชี เงินเดือนควรจะประมาณ 50 % ของต้นทุนค่าบริการต่อคนก็ต้องประมาณเดือนละ 28,000 บาท พนักงานบัญชี 1 คนต้องทำบัญชี 11-12 แห่ง อันนี้ค่อยยังชั่วหน่อย ………… แต่ยัง
ดูให้มันละเอียดขึ้นมาอีกนิด
วันทำงาน ที่ว่า 11-12 แห่ง มันทำงาน 30 วัน แต่จริงๆมันเดือนละ 25 วัน (สำนักงานเราทำแค่ 21-22 วัน) ที่บอกว่า 11-12 แห่ง เป็นอันว่าไม่ได้เพราะวันทำงานหายไป ก็ต้องเป็น 14 แห่ง หรือไม่ก็ 16 แห่ง สำหรับสำนักงานที่มีวันทำงานแบบของเรา
ถามต่อไหวไหม
คนหนึ่งคนทำงาน 8 ชั่วโมง ไม่ต้องเข้าห้องน้ำ ไม่ต้องกินน้ำกินท่า ไม่ต้องเงยหน้ามามองอะไรหรือถอนใจ เปล่าคนต้องมีเวลาหยุด แต่เท่าไหร่ละ ทั่วไป ก็คำนวณจาก 80 % ของเวลาทำงานปกติ อย่างนั้นถ้าจะให้ชีวิตนักบัญชีเป็นคนไม่ใช่หุ่นยนต์ ก็ต้องคิด ประสิทธิภาพที่ 80% ของเวลาทำงาน งานที่ได้ก็จะเป็น 18 บริษัท หรือ 20บริษัทสำหรับสำนักงานเรา ………นี่มันโรงงานนรกชัดๆ
แล้วมันควรจะเท่าไหร่ที่ต้องทำ
สำหรับคนอื่นไม่รู้แต่สำหรับสำนักงาน เราเคยเก็บสถิติของเราเองถ้าเป็น SME ที่มีเอกสารไม่มาก(ต่อปีแฟ้ม 3 นิ้วแฟ้มเดียว) เราจะให้ทำอยู่ที่ประมาณ 2-3 วันต่อบริษัท ทุกเดือนโดยเฉลี่ย เป็นอันว่าถ้าใช้เกณฑ์นี้ ที่รับงานได้จริงๆ ก็ ต้องประมาณ 8 – 12 บริษัทต่อคน เท่านั้น โอ๊ยเอกสารนิดเดียวทำตั้ง 2-3 วัน ทำไมใช้เวลาขนาดนั้น ถ้าเป็นผมชั่วโมงเดียวก็เสร็จ ……… ใช่ครับคุณคิดได้ (แบบคนที่ยังไม่รู้ว่า งานที่ต้องทำมันมีอะไร)
เรื่องที่ 3 แล้วมันต้องทำอะไรบ้าง
ก็เอกสารเดือนละไม่กี่ใบ ทำไมใช้เวลาเยอะ เขาต้องทำอะไรบ้างละ
เอาตามที่ถูกกฎหมายกำหนดต้องทำก็พอ นะครับ ตัวอย่างเช่น
ภ.ง.ด. 51 , ภ.ง.ด. 50 , ภ.ง.ด. 1 ก , ภ.ง.ด. 1 , 3 , 53 , ภ.พ.30 , ภ.ธ.40 , ประกันสังคม , แบบส.บช.3
รายงานภาษีซื้อ/ภาษีขาย
บันทึกสมุดรายวันซื้อ
บันทึกสมุดรายวันขาย
บันทึกสมุดรายวันทั่วไป
บันทึกสมุดเงินสดรับ-จ่าย
ทำ/พิมพ์ บัญชีแยกประเภท
ทำ/พิมพ์ ทะเบียนทรัพย์สิน / ค่าเสื่อมราคา
บัญชีคุมสินค้า(Stock card)
จริงอยู่บ้างอย่าง ทำเดือนละครั้ง หรือปีละครั้ง แต่ที่บอกว่า 2-3 วันน่ะ มันต่อเดือนเหมือนกันครับ แล้วบางแห่งกำหนดให้ต้องการอะไรที่มากกว่านั้น หรือ ทางผู้บริหารต้องการเอง เช่น
รายงานทางการบริหารรายเดือน หรือ บริการอื่นๆ
งบประมาณหรือประมาณ การต่างๆให้ธนาคาร อีกต่างหาก
อย่างนี้หรือครับ ปีละ 2-3 หมื่น หรือ เดือนละ 2-3 พัน
นี้ยังไม่รวม อาบน้ำหมา เล่นกับตี๋น้อย ช่วยไปซื้อของกับซ้อ ถ้ามีพวกนี้ด้วยละก็ เรื่องบัญชีเลิกพูด ……. (ไม่ต้องทำ แล้วมันจะเสร็จหรือ)
เรื่องที่ 4 ก็อยากจ่ายแค่ 2-3 พันบาทแบบที่ทั่วไปเขาบอกกัน
ไม่มีปัญหาแต่คุณอย่าหวังว่าจะได้อะไรไปบ้าง ผมได้คุยกับคนที่พยายามจะเปลี่ยนมาใช้บริการเราหลายคน ว่าทำไมเปลี่ยนค่าบริการก็ถูกดีไม่ใช่หรือ แล้วบัญชีถ้าดีตามที่บอกไม่มีปัญหาอะไร เปลี่ยนทำไม ถามไปถามมา ค่าทำบัญชี 2,000 บาท มีเก็บค่าปิดงบปลายปี อีก 50,000 ยื่น ภงด.51 กลางปี ก็คิดเพิ่ม บางรายมีค่าลงนามผู้ทำบัญชี ไม่ได้คิดรวม คำนวณแล้วค่าทำบัญชีประมาณ 7-8 พันบาทบางรายเป็นหมื่น ถามว่ามันต่างกันตรงไหน กับค่าทำบัญชีของสำนักงานตามปกติที่เขาคิดกัน LUMSUM มันไม่ต่างหรอกครับตัวเงิน แต่มันต่างกันที่ความตรงไปตรงมาต่างหากและสำหรับนักบัญชีผมว่าเรื่องนี้มันสำคัญ ผมรู้ว่าทุกวันนี้ทุกวันนี้มันไม่เต็มร้อย แต่มันต้องไม่ white lie แบบทุกวันนี้ครับ จริงอยู่มันไม่มีอะไรผิดแต่มันไม่ตรงไปตรงมาจนทำให้ลูกค้าเข้าใจผิด แบบนี้จะเอาไหม ……… ผู้ประกอบการพอรู้ก็ไม่เอา
แต่ขอโทษครับคนนอกไม่รู้ว่ามันมีตุกติกอย่างนี้ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการหรือคนที่ไม่ได้ใช้บริการจริง ก็พูดกันไปจนเกิดความเข้าใจผิดและทำให้คนที่ไม่รักษาคุณภาพอยู่ได้ จนกว่าผู้ประกอบการรายนั้นจะถูกเรียกตรวจบัญชีหรือภาษีอากร ก็ค่อยคิดเปลี่ยนเวลานั้นคุณคิดว่ามันเละไปแค่ไหนแล้ว
คิดเอาง่ายๆ ครับ นักกฎหมายบางคนมาให้คำปรึกษาด้านภาษีอากร หรือด้านบัญชี คุยปัญหาบ้าง คุยเรื่องส่วนตัว บ้าง คิดเงินหมด ชั่วโมงละ 15,000 – 20,000 บาท (ขอย้ำว่า ชั่วโมงละ) ถ้าทำเป็น project ก็คิดแสนเป็นเป็นล้าน ถ้าใช้ connection ส่วนตัวในการเคลียร์ปัญหาภาษีก็คิดไม่มาก เขาคิดแค่ 10 % ของเงินภาษีที่ถูกประเมิน ไม่ใช่เงินภาษีที่เสียน่ะครับเพราะนั่นเป็นยอดเงินที่ต่อรองแล้ว โดยที่คุณยังไม่รู้ว่า ใครได้เงินส่วนนี้ไป
แล้วคุณจ่ายค่าทำบัญชี ค่าวิ่งไปเสียภาษีสรรพกร ค่ายื่นกระทรวงพาณิขย์ ค่ายื่นประกันสังคม ให้กับสำนักงานบัญชี เดือนละ 2,000 บาท คุณจะได้อะไร คุณไม่ได้อะไรหรอก นอกจากขยะ จำไว้ครับเรื่องอย่างนี้ GIGO (garbage in gabage out) จ่ายแพงๆยังไม่แน่ว่าจะดี แล้วจ่ายน้อยๆไม่ต้องพูดถึง ก็เหมือนคุณซื้อเครื่องมือจากฝรั่งกับเครื่องมือจากจีนละครับ ก่อนซื้อต้องคิดก่อนว่าจะหาที่ทิ้งอย่างไร แต่คนก็ชอบของถูก จนบริษัทมาตรฐานอย่างฝรั่งต้องไปจ้างจีนผลิตแล้วคุมคุณภาพเอา แต่ก็อีกแหละไม่ใช่ว่าของจีนมันไม่ดี มันอยู่คนเลือกซื้อว่าฉลาดหรือเปล่า ดูเฉพาะถูกสุดหรือเปล่าเท่านั้น คนที่ไม่ได้ใช้ก็พูดกันไปว่ามันถูกจนน่าซื้อ
ยังไม่พอ เวลาเข้าไปดูจริงขอดูบัญชีแยกประเภท ก็ไม่มี บัญชีทั้งหมดก็ไม่ print out ออกมาเก็บไว้ บอกเปลืองทำให้ต้นทุนสูง ถ้าจะเอาบัญชีต้องคิดค่าบริการเพิ่มหรือไม่ก็ไปพิมพ์เอาเอง ไหงอย่างนั้นครับ มันเป็นเรื่องที่ต้องทำทั้งนั้น
บางรายหนักข้อกว่านั้น ขอดูบัญชีไม่มีให้ดู ยื่นกระดาษทำการใน excel มาให้ดูแล้วบอกว่า ค่าทำบัญชีแค่เนี่ย บันทึกบัญชีตามปกติไม่ได้หรอก ใช้วิธี key ผ่าน excel แล้ว sum ยอดออกงบการเงิน เพื่อส่งหน่วยงานของรัฐ แล้วที่กฎหมายกำหนดให้บัญชีเก็บไว้ที่สถานประกอบการหรือเก็บไว้ 5 ปีละครับ ทำอย่างไรครับ
จำไว้และก็ควรจำด้วยว่า ของถูกแล้วดีไม่มีในโลก ถ้ามันถูกมันฟรี คุณก็ต้องจ่ายอะไรบางอย่างทดแทน อยู่ดี
ผมเคยถามคนที่มาสมัครงานกับสำนักงานที่เคยผ่านสำนักงานบัญชีอื่นมาบ้างว่ารับงานเท่าไหร่ ได้รับคำตอบกลับมาว่า ประมาณ 40 บริษัท ค่าทำบัญชีเฉลี่ย ประมาณ 2,000 บาท ต่อราย
นี่เป็นเหตุผลสำหรับสำนักงานผมในการรับสมัครพนักงานว่า ถ้ามีประสบการณ์ทำงานสำนักงานบัญชีมาก่อนจะไม่พิจารณาเป็นอันดับแรก เพราะขี้เกียจล้างของเก่าแล้วสอนของใหม่ ไม่ใช่ของเขาไม่ดี เพียงแต่วิธีการทำงานมันต่างกัน
เรื่องที่ 5 ถ้าจะให้ถามว่า แล้วจะเช็คอย่างไรว่าเขาทำให้คุณจริง
ก็ไม่ยาก
นอกจากจดหมายเชิญพบจากเจ้าหน้าที่สรรพากรหรือกองบัญชีธุรกิจแล้วคุณเคยได้รับสมุดบัญชีที่เป็น print out จากสำนักงานบัญชีหรือเปล่าคุณเคยได้รับเอกสารคืนบ้างไหมลองเอาเงินที่คุณจ่ายทั้งหมดให้กับสำนักงานบัญชีนอกจากเงินภาษีที่ยื่นหรือเงินประกันสังคม รวมกันแล้วดูว่าคุณจ่ายให้กับสำนักงานบัญชีเดือนละเท่าไหร่ เท่ากับที่เจ้าของบทความหรือคุณสุวรรณ บอกไว้ว่า 2-3 พันบาทต่อเดือนหรือไม่
คุณเคยดูหน้ารายงานผู้สอบบัญชีหรือเปล่าว่า มีอะไรที่เขียนไว้มากกว่าปกติทั่วไป ผมเคยเห็นหน้ารายงาน แสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขเรื่องไม่ได้เข้าตรวจสินค้าคงเหลือ เงินสดในมือ เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สอบบัญชีหลังวันที่ในงบการเงิน ทั้งที่พอตรวจนับจริงทำรายการ cut off กลับไป มันมียอดต่างกันแค่ 3,000 บาท จากยอดสินค้าคงเหลือ 2 ล้านกว่าบาท ใส่วรรคกลางเข้าไปว่าไม่ได้ตรวจนับ แล้วก็ได้จดหมายเชิญในปีถัดไป ที่เป็นอย่างนั้นเพราะผู้สอบบัญชีต้องการป้องกันตัวเอง (ทั้งที่รู้ว่ามันไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าคุณไม่มีกระดาษทำการตรวจสอบ ให้เขาดูตอนถูกเรียกสอบทานกระดาษทำการ ซ้ำร้ายอาจจะลำบากเพิ่มอีกต่างหาก) และคนทำบัญชีก็ไม่สามารถให้คำอธิบายต่อผู้สอบบัญชีได้
เรื่องสุดท้าย นี่ละครับ ผลของค่าทำบัญชี 2-3 พันบาท
ลำบากกันทั่วถ้วนหน้า แต่คนที่ได้มากสุดคงเป็นคนที่เอาไปพูดเอาไปเขียน เพราะพูดจบก็จบกันไม่ได้ เดือดร้อนอะไรด้วย ก็คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องก็พูดส่งๆเขียนส่งๆไป อย่างเก่งก็แค่บอกว่าผิดไป เดี๋ยวคนก็ลืมครับ แต่วิชาชีพคนอื่นเขาละ ผู้ไม่รู้ที่ฟังแล้วเชื่อเพราะคิดว่าใช่แล้วเอาไปทำตามละ สุดท้ายหน่วยงานรัฐที่ได้ภาษีน้อยลง หรือต้องมีงานเยอะขึ้นถ้าต้องการเงินภาษีละ เขามีปัญหาไหม
ถ้าจะเปรียบเทียบงานบทความหรืองานวิทยากร ก็เหมือนกับสื่อสาธารณะ พูดแล้วก็ต้องรับผิดชอบ ต้องมีจริยธรรมเหมือนกันนะครับ ไม่ใช่ผมมาพูดหรือฉันเขียนเฉพาะเรื่องบัญชีหรือเรื่องภาษี ไม่เกี่ยวกับจริยธรรม ของอย่างนี้มันเลือกเกี่ยวไม่เกี่ยวไม่ได้ เพราะมันต้องอยู่ในตัวผู้พูดผู้ทำ จะมาเลือกว่าวันนี้มีวันนี้ไม่มีไม่ได้ ลองพิจารณาดูครับ ไม่งั้นคนจะไม่มั่นใจว่า ที่คุณทำตอนนั้นคุณกำลังทำดีหรือทำเลว
ถ้าจะบอกว่า ก็ที่เขียนบทความไว้น่ะยังไม่เป็นบริษัท แค่วิสาหกิจธรรมดา ……… อ้าวไม่รู้หรือว่าเป็นบริษัท ทำให้ดีภาษีมันถูกกว่า ความเชื่อถือก็ดีกว่า แต่อาจยุ่งกว่าบ้าง ถ้าจะเริ่มให้ดีก็ต้องเป็นบริษัท นิสัยคนไทย มันก็รู้อยู่ว่าต้องบังคับ ปล่อยเฉยๆจะทำหรือ เรื่องบัญชี เรื่องงบประมาณการ ปกติได้เงินมายัดใส่กระเป๋าตัวเองเฉยเลยไม่เอาเข้าบริษัทแถมบอกว่า นี่มันเงินผมทำไมจะเอาออกไม่ได้ (บ๊ะจ้าว…. เจอคนพูดประโยคนี้ทีไรผมร่ายยาวทุกที ……. ไม่รู้เป็นไง) บางบริษัทใหญ่ๆ บางแห่งยังมีไม่ครบ แล้วกลับไปเรื่องเดิม ถ้าเงินค่าบริการแค่นั้นคุณจะได้อะไรล่ะ รอถึงเวลาที่ต้องทำเป็นบริษัทจริงๆ ก็เละไปแล้ว เห็นต้องเริ่มใหม่ทุกที
ส่วนใน ข้อ 4 ของบทความที่อ่าน ก็แปลกที่แนะนำให้จดบริษัทรอไว้ล่วงหน้า จดไว้ล่วงหน้าแล้วไม่ใช้ ไม่รู้จะจดไปหาอะไร ถ้าจดบริษัทไว้แล้ว ต้องจ้างคนทำบัญชี ต้องขายของ แล้วทำไมต้องล่วงหน้า ก็รู้กันอยู่ บริษัทจดมามีค่าใช้จ่ายตามมาประจำอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี บริษัทอย่างนี้ซิ เขาถึงจ่ายค่าทำบัญชีกัน เดือนละ 1-2 พัน เป็นค่าจัดการเรื่องภาษีรายเดือน แหม ไหนๆก็ไหนๆ จดแล้วก็ใช้ซะ ถ้าขอวงเงินได้ก็ยิ่งดี ถ้าไม่อยากจัดตั้งบริษัท ไว้ใกล้ๆจะใช้ค่อยจดก็ได้ ให้รู้ล่วงหน้าสัก อาทิตย์สองอาทิตย์ ก็ทัน เดี๋ยวนี้กรมพัฒนาธุรกิจทำงานไวจะตาย ไม่กี่วันก็เสร็จ
ผมพาลไปนึกถึงอาจารย์อีกท่านหนึ่งสอนเกี่ยวกับเรื่อง การจัดการบุคคล คือ อาจารย์ สมพงษ์ จุ้ยศิริ อาจารย์ได้พูดในห้องเรียนในเวลานั้น(ประมาณปี 2532) ในทำนองว่า
” พวกคุณรู้ไหมที่พนักงานบริษัทชุมนุมประท้วงกันนะ ปัญหาไม่ได้มาจากพนักงานกับเจ้าของหรอก เป็นเพราะคนนอกทั้งนั้น โรงงานที่หนึ่งประท้วงคนที่มาเป็นแกนนำมาจากที่อื่น ยุ่งตาย… มันจะคุยกันไปรู้เรื่องได้อย่างไรกินข้าวคนละหม้อ ทางที่ดีให้คุยกันเองจะง่ายกว่า ถ้าคนงานไม่เดือดร้อนเขาไม่ประท้วงหรอก ให้ฟังเขาบ้างว่าเขาต้องการอะไร ให้ได้ก็ให้เขาไป” ถ้าไม่ลำบากเกินไปนัก อะไรที่มันจะเขียนแล้วไปกระทบวิชาชีพคนอื่นในทางที่ไม่ค่อ่ยจะสร้างสรรค์นัก จะไม่พูดไม่เขียน ก็ไม่มีใครว่าหรอกเพราะเท่าที่มีอยู่ปัญหาของคนในวิชาชีพก็มีพอสมควรแล้ว ถ้าจะพูดจะเขียนก็อย่าทำให้มันเลวร้ายไปกว่าเดิมเลยครับ
อ่านบทความแล้ว ย้อนกลับไปนึกถึงลูกค้า SME ที่เพิ่งคุยกันเรื่อง พนักงานบัญชี หมาดๆ ไม่กี่วัน ว่า “ดูเขาเรียนเก่งดี แล้วก็ฉลาดน่าจะสอนได้ หลักการดีทฤษฎีแม่น แต่ปฎิบัติยังไม่ค่อยได้เรื่อง ” ผมฟังแล้วย้อน ไปคิดถึงตัวเองตอนเด็กๆ เวลาทำการบ้านผิดๆถูกๆ พี่ชายผมมักจะบอกว่า “ไม่เป็นไร เมื่อก่อนคนเรายังโง่อยู่ ” แล้วก็เอาหนังสือที่กำลังอ่านในมือวางที่หัวผมแรงๆทีหนึ่ง ……จ๊ะอึ๋ยห์
โดย cpa_thailand
ที่มา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=850823